Search

เช็คก่อนซื้อ! 'อาหารเสริม' แบบไหนเรียกว่า 'โฆษณาเกินจริง' - กรุงเทพธุรกิจ

21 มกราคม 2564 | โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

17

จากกรณี "อาหารเสริม" ของกาละแมร์ ที่ อย. เข้าตรวจสอบพบว่ามีการ "โฆษณาเกินจริง" ชวนคนไทยรู้เท่าทันการตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์ "อาหารเสริม" ว่าต้องเช็คก่อนซื้อยังไง? ถึงจะไม่โดนหลอกให้เสียเงิน

กระแสดราม่าแรงไม่หยุด สำหรับกรณี "อาหารเสริมกาละแมร์" ที่ทาง อย. ตรวจสอบพบว่ามีการอวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล เข้าข่าย "โฆษณาเกินจริง" ด้านชาวเน็ตก็ขุดคลิปออกมาแฉอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลายคลิปพบว่า "กาละแมร์" พูดอวดอ้างสรรพคุณเวอร์เกินจริง เช่น สามารถรักษามะเร็งระยะที่ 3 ได้ รักษาโควิด-19 ได้ ช่วยเพิ่มตาสองชั้น จมูกเข้ารูป กระชับใบหน้า เหนียงหาย ฯลฯ ซึ่งล่าสุดถูกดำเนินการทางกฎหมายแล้ว

ไม่ใช่แค่เคส "อาหารเสริมกาละแมร์" ที่กำลังถูกจับตามอง แต่ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่นๆ ในเมืองไทย ที่มีการ "โฆษณาเกินจริง" ว่อนโซเชียลมีเดีย ทางฝั่งหน่วยงานผู้ดูแลเรื่องนี้อย่าง กสทช. หรือ อย. ก็เร่งตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนฝั่งประชาชนเองก็ต้องรู้จักสังเกตและตรวจสอบอาหารเสริมเหล่านี้ให้ดีก่อนซื้อด้วย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนผู้บริโภคตั้งสติก่อนซื้อ "อาหารเสริม" ต้องแยกแยะความจริงและความเกินจริงให้ออก ..แล้วจะรู้ได้ไง? ว่าแบบไหนเรียกว่า "โฆษณาเกินจริง" เรารวบรวมมาให้เช็คลิสต์ ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

161123358529

  • อาหารเสริม ไม่ใช่ ยา

อันดับแรก ต้องเข้าใจก่อนว่าผลิตภัณฑ์ "อาหารเสริม" ไม่ใช่ยา และส่วนประกอบของอาหารเสริมก็ต้องไม่ใช่ยาด้วย ใช้รักษาโรคไม่ได้ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าอาหารเสริมที่วางขายทั่วไปเกือบทั้งหมดมักอวดสรรพคุณว่ารักษาโรคได้ เช่น ลดความอ้วน เพิ่มหน้าอก เพิ่มความขาว เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เหล่านี้ถือว่าเป็นการอวดอ้างสรรพคุณทางยา ซึ่งเข้าข่ายโฆษณาเกินจริงและผิดกฎหมาย

และเนื่องจากว่าอาหารเสริมไม่ใช่ยา จึงไม่สามารถออกฤทธิ์ให้เห็นผลได้ทันทีที่รับประทานเข้าไป หากอาหารเสริมตัวใดที่รับประทานแล้วเกิดปฏิกิริยาหรืออาการภายใน 30 นาที ให้สันนิษฐานว่ามีการแอบใส่ยาอันตรายเป็นส่วนผสม

  • แม้จะมีเครื่องหมาย อย. ก็ใช่ว่าจะไม่ผิดเรื่องโฆษณาเกินจริง

มีข้อมูลจาก สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ "อาหารเสริม" ใดๆ ก็ตาม แม้ว่าจะมีเครื่องหมาย อย. / เลขสารบบอาหาร และเลขทะเบียนยา / เลขที่ใบรับแจ้ง การมีเครื่องหมายเหล่านี้เป็นการยืนยันอนุญาตผลิตภัณฑ์เท่านั้น ไม่ได้เป็นการแจ้งว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านการอนุญาตให้โฆษณาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ดังนั้น การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาอย่างถูกกฎหมาย จะต้องดูที่ "เลขที่อนุญาตโฆษณา" ซึ่งจะแบ่งตามประเภทของผลิตภัณฑ์แต่ละอย่าง ได้แก่ 

- อาหาร/อาหารเสริม ต้องระบุ >> ฆอ. .../....

- ยา ต้องระบุ >> ฆท. .../....

- เครื่องสำอาง >> ไม่ต้องขออนุญาตโฆษณา แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ

161123358519

  • อ้างสรรพคุณรักษาโรค = โฆษณาเกินจริง

หากอาหารเสริมนั้นๆ มีการโฆษณาอวดอ้างถึงสรรพคุณเรื่องการรักษาโรค เช่น สามารถบำบัด รักษา ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด สามารถรักษาโรคได้ครอบจักรวาล และสามารถรักษาโรคเรื้อรัง ร้ายแรง เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ เสริมสรรถภาพทางเพศ เหล่านี้เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง

  • อ้างสรรพคุณทางเวชสำอาง = โฆษณาเกินจริง

หากอาหารเสริมนั้นๆ มีการโฆษณาอวดอ้างถึงสรรพคุณทางเวชสำอาง เช่น ผิวขาวขึ้นภายใน...วัน ลดความอ้วน ลดไขมันส่วนเกิน อกฟูรูฟิต ระงับกลิ่น หน้าอกเต่งตึง เหล่านี้เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง

161123358567

  • อ้างว่าทดแทนศัลยกรรมได้ = โฆษณาเกินจริง

หากอาหารเสริมนั้นๆ มีการโฆษณาอวดอ้างเปรียบเทียบว่าสามารถทดแทนการศัลยกรรมได้ เช่น กรอบหน้าชัด ช่วยกระชับผิวหน้า เหนียงหาย หน้ายก เปลี่ยนหนังตาตกเป็นตา 2 ชั้น รอยขมวดคิ้วหาย ร่องแก้มตื้น จมูกเข้ารูป ลดไขมันส่วนเกินบนใบหน้า เหล่านี้เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง 

โดยทาง อย. ออกมาชี้ชัดแล้วว่าคำโฆษณาเหล่านี้ ไม่เป็นความจริง ไม่มีผลิตภัณฑ์อาหารตัวใดที่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใบหน้า หรือการทำงานของร่างกายได้ตามที่กล่าวอ้าง การโฆษณาดังกล่าวเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณอันเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร อ่านเพิ่ม : อย. เอาผิด "กาละแมร์" โฆษณาโอ้อวดเกินจริง

  • 4 ข้อต้องทำก่อนซื้อ "อาหารเสริม"

1. ใช้สติวิเคราะห์แยกแยะ ‘ความเป็นจริง’ กับ ‘ความเกินจริง’

2. อ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนซื้อทุกครั้ง (หรือขอดูภาพฉลากหากเป็นการซื้อออนไลน์)

161123506673

3. มองหาสัญลักษณ์ที่ผ่านการอนุญาตจาก อย. รวมถึงต้องดู "เลขที่อนุญาตโฆษณา" ด้วย เช่น ฆอ. XX/25YY ที่แสดงไว้บนพื้นที่สื่อโฆษณา

4. รู้จักสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ โดยตรวจสอบจากเว็บไซด์ www.fda.moph.go.th คลิกไปที่ในหัวข้อ “สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์” โดยนำเลขทะเบียน อย.ที่อยู่บนฉลากมาตรวจสอบว่าชื่อที่จดแจ้งไว้กับ อย. ตรงกับที่ปรากฏบนฉลากหรือไม่

ย้ำอีกทีว่า.. การโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หากพบโฆษณาที่เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริงผ่านสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์ สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังที่ผู้ประกอบการสื่อที่โฆษณานั้นๆ หรือที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่สำนักงาน กสทช. Call Center 1200

----------------------

อ้างอิง : 

กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค อย.

oryor.com

bcp.nbtc.go.th

food.fda.moph.go.th

ocpb.go.th

Let's block ads! (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( เช็คก่อนซื้อ! 'อาหารเสริม' แบบไหนเรียกว่า 'โฆษณาเกินจริง' - กรุงเทพธุรกิจ )
https://ift.tt/3qCVybe
บันเทิง

Bagikan Berita Ini

0 Response to "เช็คก่อนซื้อ! 'อาหารเสริม' แบบไหนเรียกว่า 'โฆษณาเกินจริง' - กรุงเทพธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.