หนังเล่าโลก The Crown ‘อำลาเจ้าชายฟิลิป’ ที่ตอกย้ำถึงความยากลำบากในการปรับตัวของคู่สมรสหนุ่มสาว เมื่อผู้เป็นภรรยาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีเร็วกว่าที่คิด ในช่วงเวลาแห่งการหลงชาติและผู้ชายเป็นใหญ่ แต่เจ้าชายฟิลิปทรงตกอยู่ในฐานะช้างเท้าหลัง
ในบรรดาราชวงศ์ต่างๆ ทั่วโลก กล่าวได้ว่าราชวงศ์อังกฤษเป็นที่คุ้นเคยของประชาชนมากที่สุด เนื่องจากมีเรื่องราวปรากฏผ่านสื่อนานาประเทศ เมื่อเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ขณะมีพระชนมายุ 99 พรรษา การจะหาหนังดูเพื่อระลึกถึงพระองค์ คงหนีไม่พ้นต้องกลับไปหาซีรีส์ เดอะคราวน์ (The Crown) อีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ขอเน้นที่ซีซัน 1 และ 2 ที่กล่าวถึงการเริ่มต้นครองราชย์ของควีนหลังจากทรงเริ่มต้นชีวิตคู่ได้ไม่นาน
เจ้าชายฟิลิปเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2490 ห้าปีต่อมาเจ้าหญิงรัชทายาทขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา นับแต่นั้นเจ้าชายฟิลิปคือผู้ที่ประทับอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตลอดมา สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เดอะคราวน์ตอกย้ำถึงความยากลำบากในการปรับตัวของคู่สมรสหนุ่มสาว เมื่อผู้เป็นภรรยาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีเร็วกว่าที่คิด ในช่วงเวลาแห่งการหลงชาติและผู้ชายเป็นใหญ่ แต่เจ้าชายฟิลิปทรงตกอยู่ในฐานะช้างเท้าหลัง
แอเรียน เชอร์น็อก อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตันในสหรัฐ เผยกับซีเอ็นเอ็นว่า บทบาทพระราชสวามีเป็นความท้าทายอย่างยิ่งเพราะแทบไม่มีต้นแบบให้ศึกษา ความเข้าใจรายละเอียดของหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในตำแหน่งนั้นก็มีน้อยมาก ดังนั้นสิ่งที่ปรากฏในเดอะคราวน์ได้สร้างภาพเจ้าชายฟิลิปให้ผู้ชมร่วมสมัยได้จดจำ
ตัวอย่างเช่น แมรี แมคเคลลแลนด์ ผู้ชมคนหนึ่งในชิคาโก เผยกับซีเอ็นเอ็นว่า ก่อนดูเดอะคราวน์ เธอรู้สึกเฉยๆ กับเจ้าชายฟิลิป
“ฉันคิดว่า พระองค์ไม่ใช่พ่อที่ดีที่สุดในโลก พระองค์ทรงทำอย่างดีที่สุดในสิ่งที่ทรงทำได้สำหรับช่วงเวลานั้น ในสังคมนั้น กับคนรุ่นนั้น แต่ฉันก็ไม่จำเป็นต้องไปตำหนิพระองค์ในสถานะที่ทรงดำรงอยู่”
ข้อดีอย่างหนึ่งของเดอะคราวน์คือ ไม่ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร แต่ละตอนที่แพร่ภาพออกไปผู้ชมต้องท่องอินเทอร์เน็ตหาข้อมูลตัวละครในเรื่องเพิ่มเติม ตัวละครเจ้าชายฟิลิปก็เช่นกัน แฟนพันธุ์แท้อย่างแมคเคลลแลนด์ ที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารขององค์กรไม่หวังผลกำไรแห่งหนึ่งเล่าว่า เธอต้องทำวิจัยเพิ่มเกี่ยวกับพระองค์ในทุกมิติ
ด้านยูเอสเอทูเดย์รายงานว่า แม้เดอะคราวน์ ฉายภาพเจ้าชายฟิลิปในทางลบบ่อยครั้ง แต่ก็ให้เครดิตพระองค์เรื่องการช่วยปรับราชวงศ์ให้ทันสมัย ด้วยการตัดสินใจให้ถ่ายทอดพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทางโทรทัศน์ นอกจากนี้ความสำเร็จของควีนยังมีเจ้าชายฟิลิปทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ แม้เจ้าชายต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการรับบทรอง
เดอะคราวน์ยังไม่จบ กำลังมีซีซัน 5 ตามมา รอบนี้ได้โจนาทาน ไพรซ์ มารับบทเจ้าชายฟิลิป อิเมลดา สตอนตัน แสดงเป็นควีนเอลิซาเบธ แต่ที่ปิดฉากไปอย่างสงบแล้วคือเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พิธีฝังพระศพจะมีขึ้นในวันที่ 17 เม.ย. เวลา 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่โบสถ์เซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน พิธีจะเป็นไปอย่างเรียบง่ายผู้เข้าร่วมมีเฉพาะที่ได้รับเชิญเพียง 30 คน หนึ่งในนั้นคือเจ้าชายแฮร์รี พระราชนัดดาที่ฉายเดี่ยวจากสหรัฐโดยไม่มีชายาเมแกนมาร่วมด้วย เพราะกำลังตั้งครรภ์แพทย์แนะนำไม่ให้เดินทางไกล
การกลับมาเผชิญหน้าราชวงศ์ครั้งนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เจ้าชายแฮร์รีและเมแกนให้สัมภาษณ์บันลือโลก แฉราชวงศ์อังกฤษกับโอปราห์ วินฟรีย์เมื่อวันที่ 7 มี.ค. เชื่อว่า งานฝังพระศพเจ้าชายฟิลิปจะเป็นงานที่คนทั่วโลกจับตา ทั้งเพื่อแสดงความอาลัยต่อดยุกแห่งเอดินบะระผู้จากไป และเพื่อชมหนังนอกจอที่น่าจะร้อนแรงยิ่งกว่าเดอะคราวน์!!
อ่านบทความและอื่น ๆ ( หนังเล่าโลก The Crown 'อำลาเจ้าชายฟิลิป' - กรุงเทพธุรกิจ )https://ift.tt/3wQyARX
บันเทิง
Bagikan Berita Ini
0 Response to "หนังเล่าโลก The Crown 'อำลาเจ้าชายฟิลิป' - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment